วันพฤหัสบดีที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

กรณีศึกษา การบังคับใชกฎหมายการตรวจสอบอาคาร

นายธนกฤษ จันทรพิลา
นักศึกษาหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการตรวจสอบและกฎหมายวิศวกรรม รุ่นที่ 1
คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

การพิจารณาจากข้อกฎหมาย
     พรบ ควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ “มาตรา ๓๒ ทวิ เจ้าของอาคาร ดังต่อไปนี้
(๑) อาคารสูง อาคารขนาดใหญ่พิเศษ
(๒) อาคารชุมนุมคน
(๓) อาคารตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
   ต้องจัดให้มีผู้ตรวจสอบด้านวิศวกรรมหรือผู้ตรวจสอบด้านสถาปัตยกรรม แล้วแต่กรณี ทำการตรวจสอบสภาพอาคาร โครงสร้างของตัวอาคาร อุปกรณ์ประกอบต่าง ๆ เกี่ยวกับระบบไฟฟ้า และการจัดแสงสว่าง ระบบการเตือน การป้องกันและการระงับอัคคีภัย การป้องกันอันตรายเมื่อมีเหตุชุลมุนวุ่นวาย ระบบ ระบายอากาศ ระบบระบายน้ำ ระบบบำบัดน้ำเสีย ระบบเครื่องกล หรือระบบอื่น ๆ ของอาคารที่จำเป็นต่อการป้องกันภยันตรายต่าง ๆ ที่มีผลต่อสุขภาพ ชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สิน แล้วรายงานผลการตรวจสอบต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวงให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นพิจารณาผลการตรวจสอบสภาพอาคารตามวรรคหนึ่งโดยมิชักช้าเพื่อพิจารณาออกใบรับรองการตรวจสอบสภาพอาคารหรือดำเนินการตามมาตรา ๔๖ หรือมาตรา ๔๖ ทวิ แล้วแต่กรณี ต่อไป”
           (“มาตรา ๓๒ ทวิ” บัญญัติเพิ่มโดย พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๔๓ มาตรา ๑๗)
  “มาตรา ๘ เพื่อประโยชน์แห่งความมั่นคงแข็งแรง ความปลอดภัย การป้องกันอัคคีภัย การ
สาธารณสุข การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม การผังเมือง การสถาปัตยกรรม และการอำนวยความสะดวกแก่การจราจร ตลอดจนการอื่นที่จำเป็นเพื่อปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ ให้รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมอาคารมีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนด...
...(๑๔) คุณสมบัติเฉพาะและลักษณะต้องห้ามของผู้ตรวจสอบ ตลอดจนหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการขอขึ้นทะเบียนและการเพิกถอนการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ตรวจสอบ
 (๑๕) หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการตรวจสอบอาคาร ติดตั้งและตรวจสอบอุปกรณ์ประกอบอาคาร.......”

  กฎกระทรวงว่าด้วยการยกเว้น ผ่อนผัน หรือกำหนด เงื่อนไขในการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๕๐......
....ข้อ ๒ ให้อาคารดังต่อไปนี้ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขออนุญาตตามมาตรา ๒๑ มาตรา ๒๒มาตรา ๓๒ มาตรา ๓๓ และมาตรา ๓๔
(๑) อาคารของกระทรวง ทบวง กรม ที่ใช้ในราชการหรือใช้เพื่อสาธารณประโยชน์
(๒) อาคารของราชการส่วนท้องถิ่น ที่ใช้ในราชการหรือใช้เพื่อสาธารณประโยชน์
(๓) อาคารขององค์การของรัฐที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย ที่ใช้ในกิจการขององค์การหรือใช้เพื่อสาธารณประโยชน์
(๔) โบราณสถาน วัดวาอาราม หรืออาคารต่าง ๆ ที่ใช้เพื่อการศาสนา ซึ่งมีกฎหมายควบคุม
การก่อสร้างไว้แล้วโดยเฉพาะ
(๕) อาคารที่ทำการขององค์การระหว่างประเทศ หรืออาคารที่ทำการของหน่วยงานที่ตั้งขึ้น
ตามความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลต่างประเทศ
(๖) อาคารที่ทำการสถานทูตหรือสถานกงสุลต่างประเทศ......
.....ข้อ ๔ ให้อาคารตามข้อ ๒ วรรคหนึ่ง ที่เป็นอาคารประเภทหรือชนิดที่กำหนดไว้ใน
มาตรา ๓๒ ทวิ (๑) (๒) และ (๓) ได้รับการยกเว้นไม่ต้องจัดให้มีผู้ตรวจสอบด้านวิศวกรรมหรือผู้ตรวจสอบด้านสถาปัตยกรรม แล้วแต่กรณี ตามมาตรา ๓๒ ทวิ
       ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารตามวรรคหนึ่งจัดให้มีการตรวจสอบอาคารและอุปกรณ์ประกอบของอาคารตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการตรวจสอบอาคาร การติดตั้ง และตรวจสอบอุปกรณ์ประกอบของอาคารที่กำหนดในกฎกระทรวงที่ออกตามความในมาตรา ๘ (๑๕)
   โดยผู้ที่ทำการตรวจสอบต้องมีคุณสมบัติเฉพาะและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดในกฎกระทรวงที่ออกตามความในมาตรา ๘ (๑๔) ถ้าหน่วยงานที่เป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารตามข้อ ๒ วรรคหนึ่ง (๑) (๒) (๓) หรือ (๔) ที่ต้องจัดให้มีการตรวจสอบอาคารและอุปกรณ์ประกอบของอาคารตามวรรคสองไม่สามารถจัดหาผู้ที่ดำเนินการตรวจสอบเองได้ ให้กรมโยธาธิการและผังเมืองเป็นผู้ดำเนินการตรวจสอบหรือจัดหาผู้ดำเนินการตรวจสอบให้....
...ข้อ ๕ ให้ผู้ที่ดำเนินการตรวจสอบอาคารและอุปกรณ์ประกอบของอาคารตามข้อ ๔ จัดทำรายงานผลการตรวจสอบให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารนั้น
   ในกรณีที่ตรวจสอบแล้วพบว่าอาคารและอุปกรณ์ประกอบของอาคารบางส่วนหรือบางรายการไม่ผ่านหลักเกณฑ์ตามกฎกระทรวงที่ออกตามความในมาตรา ๘ (๑๕)ให้ผู้ที่ดำเนินการตรวจสอบจัดทำข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงอาคาร หรืออุปกรณ์ประกอบของอาคารเพื่อให้อาคารและอุปกรณ์ประกอบของอาคารดังกล่าวเป็นไปตามหลักเกณฑ์ หรือมาตรฐานที่กำหนดให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารนั้นด้วย
    ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารนั้นดำเนินการแก้ไขปรับปรุงอาคารหรืออุปกรณ์ประกอบของอาคาร ตามข้อเสนอแนะของผู้ที่ดำเนินการตรวจสอบโดยไม่ชักช้า....
    หมายเหตุ เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่กฎกระทรวง ฉบับที่ ๙(พ.ศ. ๒๕๒๘) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๔ (พ.ศ.๒๕๒๙) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.๒๕๒๒ มีบทบัญญัติที่อ้างถึงมาตรา ๒๓ และมาตรา ๒๔ แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.๒๕๒๒ ซึ่งถูกยกเลิกโดยพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ ประกอบกับเป็นการสมควรปรับปรุงข้อกำหนดในการยกเว้น ผ่อนผันหรือกำหนดเงื่อนไขในการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารสำหรับอาคารของราชการ องค์การของรัฐ หรือองค์การระหว่างประเทศ อาคารเพื่อการศาสนาหรืออาคารสถานทูต เพื่อให้ครอบคลุมถึงการได้รับยกเว้นไม่ต้องจัดให้มีผู้ตรวจสอบอาคารตามมาตรา ๓๒ ทวิแห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.๒๕๒๒ และโดยที่มาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ.๒๕๒๒ กำหนดให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกกฎกระทรวงยกเว้น ผ่อนผัน หรือกำหนดเงื่อนไขในการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนสำหรับอาคารดังกล่าว จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้(คัดลอกจากราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๔ ตอนที่ ๑๕ ก ๑๘ มีนาคม ๒๕๕๐)
 
   กฎระทรวง กำหนดคุณสมบัติเฉพาะของผู้ตรวจสอบ หลักเกณฑ์การขอขึ้นทะเบียนและการเพิกถอนการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ตรวจสอบ และหลักเกณฑ์การตรวจสอบอาคารพ.ศ. ๒๕๔๘ ถือว่าเป็นกฎหมายที่กำหนดมาตรฐานวิธีปฏิบัติในการตรวจสอบอาคารตาม
...ข้อ ๑๗ การตรวจสอบอาคารและอุปกรณ์ประกอบของอาคารอย่างน้อยต้องทำการตรวจสอบ
ในเรื่องดังต่อไปนี้
(๑) การตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของอาคาร ดังนี้
(ก) การต่อเติมดัดแปลงปรับปรุงตัวอาคาร
(ข) การเปลี่ยนแปลงน้ำหนักบรรทุกบนพื้นอาคาร
(ค) การเปลี่ยนสภาพการใช้อาคาร
(ง) การเปลี่ยนแปลงวัสดุก่อสร้างหรือวัสดุตกแต่งอาคาร
(จ) การชำรุดสึกหรอของอาคาร
(ฉ) การวิบัติของโครงสร้างอาคาร
(ช) การทรุดตัวของฐานรากอาคาร
(๒) การตรวจสอบระบบและอุปกรณ์ประกอบของอาคาร
(ก) ระบบบริการและอำนวยความสะดวก
(๑) ระบบลิฟต์
(๒) ระบบบันไดเลื่อน
(๓) ระบบไฟฟ้า
(๔) ระบบปรับอากาศ
(ข) ระบบสุขอนามัยและสิ่งแวดล้อม
(๑) ระบบประปา
(๒) ระบบระบายน้ำเสียและระบบบำบัดน้ำเสีย
(๓) ระบบระบายน้ำฝน
(๔) ระบบจัดการมูลฝอย
(๕) ระบบระบายอากาศ
(๖) ระบบควบคุมมลพิษทางอากาศและเสียง
(ค) ระบบป้องกันและระงับอัคคีภัย
(๑) บันไดหนีไฟและทางหนีไฟ
(๒) เครื่องหมายและไฟป้ายทางออกฉุกเฉิน
(๓) ระบบระบายควันและควบคุมการแพร่กระจายควัน
(๔) ระบบไฟฟ้าสำรองฉุกเฉิน
(๕) ระบบลิฟต์ดับเพลิง
(๖) ระบบสัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้
(๗) ระบบการติดตั้งอุปกรณ์ดับเพลิง
(๘) ระบบการจ่ายน้ำดับเพลิง เครื่องสูบน้ำดับเพลิง และหัวฉีดน้ำดับเพลิง
(๙) ระบบดับเพลิงอัตโนมัติ
(๑๐) ระบบป้องกันฟ้าผ่า
(๓) การตรวจสอบสมรรถนะของระบบและอุปกรณ์ต่าง ๆ ของอาคารเพื่ออพยพผู้ใช้อาคาร
(ก) สมรรถนะบันไดหนีไฟและทางหนีไฟ
(ข) สมรรถนะเครื่องหมายและไฟป้ายทางออกฉุกเฉิน
(ค) สมรรถนะระบบแจ้งสัญญาณเหตุเพลิงไหม้
(๔) การตรวจสอบระบบบริหารจัดการความปลอดภัยในอาคาร
(ก) แผนการป้องกันและระงับอัคคีภัยในอาคาร
(ข) แผนการซ้อมอพยพผู้ใช้อาคาร
(ค) แผนการบริหารจัดการเกี่ยวกับความปลอดภัยในอาคาร
(ง) แผนการบริหารจัดการของผู้ตรวจสอบอาคาร
ข้อ ๑๘ การตรวจสอบอาคารและอุปกรณ์ประกอบของอาคารตามข้อ ๑๗ ให้ผู้ตรวจสอบ
พิจารณาถึงหลักเกณฑ์หรือมาตรฐาน ดังต่อไปนี้
(๑) หลักเกณฑ์ตามที่ได้กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร หรือตามกฎหมายอื่น
ที่เกี่ยวข้องที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่มีการก่อสร้างอาคารนั้น หรือ
(๒) มาตรฐานความปลอดภัยของสถาบันของทางราชการ สภาวิศวกร หรือสภาสถาปนิก (เล่ม ๑๒๒ ตอนที่ ๑๒๖ ก ราชกิจจานุเบกษา ๒๙ ธันวาคม ๒๕๔๘)

การวิเคราะเชิงบูรณาการข้อมูลทางกฎหมาย และแนวทางปฏิบัติ   
   จากที่ได้ทำการศึกษาดูเนื้อหาขอบังคับแห่งกฎหมาย อาคารสุโขทัยที่เราทำการตรวจสอบนั้นเข้ายกเว้นผ่อนผันการตรวจสอบอาคารโดยถือว่า อาคารสุโขทัย เป็นอาคารของทางหน่วยงานราชการตาม กฎกระทรวงว่าด้วยการยกเว้น ผ่อนผัน หรือกำหนด เงื่อนไขในการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร พ.ศ.๒๕๒๒ ข้อ๒ วรรคแรกกำหนดถึงอาคารของหน่วยงานราชการ ประกอบกับ ข้อ๔ กำหนดในเรื่องของประเภท ชนิดของอาคาร ตามมาตรา ๓๒ ทวิ ของพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร โดยได้รับการยกเว้นไม่ต้องจัดให้มีผู้ตรวจสอบด้านวิศวกรรมหรือผู้ตรวจสอบด้านสถาปัตยกรรม และกฎหมายยังมีข้อกำหนดการปฏิบัติไว้ว่าให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารจัดให้มีการตรวจสอบอาคารและอุปกรณ์ประกอบของอาคารตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการตรวจสอบอาคาร การติดตั้ง และตรวจสอบอุปกรณ์ประกอบของอาคารที่กำหนดในกฎกระทรวงที่ออกตามความในมาตรา ๘ (๑๕)พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.๒๕๒๒ และหากทางเจ้าของอาคารไม่สามารถหาผู้ตรวจสอบได้ กฎกระทรวงฉบับนี้ยังกำหนดต่อไปให้เป็นหน้าที่กรมโยธาธิการและผังเมืองเป็นผู้ดำเนินการตรวจสอบหรือจัดหาผู้ดำเนินการตรวจสอบ ซึ่งที่กล่าวมาทั้งหมดเห็นได้ว่ากฎหมายเกี่ยวกับการตรวจสอบอาคารยังมีความขัดแย้งกันโดยผลแห่งการบังคับใช้ของกฎหมาย

วันศุกร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2553

สาระสำคัญของพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๔๕


The main point of act of arbitrator legislation a Buddhist Era is 2545

 
นายธนกฤษ จันทรพิลา
นักศึกษาหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการตรวจสอบและกฎหมายวิศวกรรม รุ่นที่ 1
คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง


บทคัดย่อ

กฎหมายและข้อบังคับว่าด้วยอนุญาโตตุลาการ เป็นเรื่องกำหนดมาตรฐานการบังคับของพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ โดยมีการกำหนดตั้งแต่เริ่มประกาศใช้พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ คุณสมบัติของบุคคลที่ทำหน้าที่อนุญาโตตุลาการ จำนวนอนุญาโตตุลาการ วัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ ข้อพิพาทที่ระงับได้ด้วยการอนุญาโตตุลาการ เขตอำนาจศาลในการชี้ขาดคำขออนุญาโตตุลาการ ประเภทของสัญญาอนุญาโตตุลาการ ขั้นตอนการบังคับชี้ขาดตามสัญญาอนุญาโตตุลาการ ความรับผิดทางแพ่งและทางอาญาของอนุญาโตตุลาการ อำนาจและวิธีพิจารณาชั้นอนุญาโตตุลาการ ระยะเวลาการบังคับหรือคัดค้านคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ รวมถึงค่าธรรมเนียม ค่าจ่ายและค่าป่วยการเกี่ยวกับอนุญาโตตุลาการ



Abstract
The law and regulations about an arbitrator get into trouble fix enforcing standard of act of arbitrator legislation by the specification since begin promulgate act of arbitrator legislation , the property of a person that performs an arbitrator , arbitrator amount , the objective of act of arbitrator legislation. The dispute where can hold over with something an arbitrator, jurisdiction of a court border in judging request an arbitrator, a kind of promise an arbitrator, enforcing step judges to follow promise an arbitrator, the plead guilty way civil and criminal of an arbitrator, the power and the way consider an arbitrator, period of enforcing time or, object arbitrator writ, include the free, the value pays and the commission about an arbitrator.

Keyword: อนุญาโตตุลาการ เขตอำนาจศาล ความรับผิดทางแพ่งและทางอาญา การคัดค้านคำชี้ขาด


1. บทนำ
การอนุญาโตตุลาการ (Arbitration) เป็นวิธีระงับข้อพิพาทซึ่งคู่พิพาทตกลงกันตั้งบุคคลที่สาม ซึ่งเรียกว่า อนุญาโตตุลาการ ขึ้นมาเพื่อวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทระหว่างกัน และเมื่ออนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดอย่างใดแล้วย่อมผูกพันให้คู่พิพาทต้องปฏิบัติตาม ดังนั้นในทางวิศวกรรมก่อสร้าง ในปัจจุบันสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ตามโครงการต่างๆที่เกิดขึ้น ทั้งโครงการขนาดใหญ่ และโครงการขนาดเล็ก ทั้งเป็นการร่วมกันลงทุนกับต่างชาติ และทุนโดยเจ้าของคนเดียว ทั้งเกิดโดยผลแห่งผลแห่งสัญญาก่อสร้าง และสัญญาทางการค้า ดังนั้นวิศวกรจึงต้องทำการศึกษาและทำความเข้าใจในเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องข้อพิพาทที่เกิดขึ้นจากสัญญาก่อสร้าง และวิธีระงับข้อพิพาทโดยการอนุญาโตตุลาการ

2. สาระสำคัญของพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๔๕
เรื่องของความหมาย : สัญญาอนุญาโตตุลาการ หมายถึง สัญญาที่คู่สัญญาตกลงให้ระงับข้อพิพาททั้งหมดหรือบางส่วนที่เกิดขึ้นแล้วหรืออาจเกิดขึ้นในอนาคตไม่ว่าจะเกิดจากนิติสัมพันธ์ทางสัญญาหรือไม่ (มาตรา ๑๑)
สัญญาระหว่างหน่วยงานของรัฐกับเอกชน ไม่ว่าจะเป็นสัญญาทางปกครองหรือไม่ก็ตาม คู่สัญญาอาจตกลงให้ใช้วิธีการอนุญาโตตุลาการในการระงับข้อพิพาทได้ ( มาตรา ๑๕)
เรื่องแบบของสัญญาอนุญาโตตุลาการ : ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อคู่สัญญา หรือปรากฏข้อสัญญาในเอกสารที่คู่สัญญาโต้ตอบทางจดหมาย โทรสาร โทรเลข โทรพิมพ์ การแลกเปลี่ยนข้อมูลโดยมีการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือทางอื่น ซึ่งมีการบันทึกข้อสัญญานั้นไว้ (มาตรา ๑๑ วรรค๒)
เรื่องความสมบูรณ์แห่งสัญญาอนุญาโตตุลาการ : ความสมบูรณ์แห่งสัญญาอนุญาโตตุลาการและการตั้งอนุญาโตตุลาการย่อมไม่เสียไป แม้ในภายหลังคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตายหรือสิ้นสุดสภาพความเป็นนิติบุคคล ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด หรือถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ (มาตรา ๑๒)
เรื่องการโอนสิทธิเรียกร้อง : เมื่อมีการโอนสิทธิเรียกร้องหรือความรับผิดใด สัญญาอนุโตตุลาการที่มีอยู่เกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องหรือความรับผิดนั้นย่อมผูกพันผู้รับโอนด้วย (มาตรา ๑๓)
เรื่องเขตอำนาจศาล : การยื่นคำร้องขอบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการนั้นต้องยื่นต่อศาลที่มีเขตอำนาจศาลหนึ่งดังต่อไปนี้
- ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง
- ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศภาค
- ศาลที่มีการพิจารณาชั้นอนุญาโตตุลาการอยู่ในเขตศาล
- ศาลที่คู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล
- ศาลที่มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาข้อพิพาทซึ่งได้เสนอต่ออนุญาโตตุลาการนั้น(มาตรา ๑๓)
เรื่องวิธีการชั่วคราวเพื่อคุ้มครองประโยชน์คู่สัญญา : คู่สัญญาอาจยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจ ให้มีคำสั่งใช้วิธีการชั่วคราวเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของตนก่อนหรือขณะดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการได้ (มาตรา ๑๖)
เรื่องจำนวนอนุญาโตตุลาการ : ให้คณะอนุญาโตตุลาการประกอบด้วยอนุญาโตตุลาการเป็นจำนวนเลขคี่
ถ้ากำหนดจำนวนอนุญาโตตุลาการเป็นเลขคู่ให้อนุญาโตตุลาการร่วมกันตั้งอนุญาโตตุลาการเพิ่มอีกหนึ่งคนเป็นอนุญาโตตุลาการ ในกรณีที่คู่พิพาทไม่สามารถตกลงกำหนดจำนวนอนุญาโตตุลาการเพียงคนเดียว(มาตรา ๑๗)
เรื่องคุณสมบัติอนุญาโตตุลาการ :
๑. อนุญาโตตุลาการต้องมีความเป็นกลางและเป็นอิสระ
๒. มีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ในสัญญาอนุญาโตตุลาการ
๓. กรณีที่คู่สัญญาตกลงให้หน่วยงานจัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินการระงับข้อพิพาทโดยวิธีอนุญาโตตุลาการเป็นผู้ดำเนินการต้องมีคุณสมบัติตามที่หน่วยงานดังกล่าวกำหนด(มาตรา ๑๙)
เรื่องการคัดค้านอนุญาโตตุลาการ :
๑. อนุญาโตตุลาการอาจถูกคัดค้านได้หากปรากฏข้อเท็จจริงซึ่งเป็นเหตุอันควรสงสัยถึงความเป็นกลางหรือความเป็นอิสระหรือการขาดคุณสมบัติตามที่คู่พิพาทตกลงกัน
๒. แต่คู่พิพาทจะคัดค้านอนุญาโตตุลาการซึ่งตนเป็นผู้ตั้งมิได้เว้นแต่คู่พิพาทฝ่ายนั้นจะรู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการคัดค้านในขณะที่ตั้งอนุญาโตตุลาการนั้น(มาตรา ๑๘วรรค๓)
เรื่องการสิ้นสุดของการเป็นอนุญาโตตุลาการ : การเป็นอนุญาโตตุลาการสิ้นสุดลงเมื่อ
๑. อนุญาโตตุลาการตาย
๒. ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด
๓. ถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ
๔. อนุญาโตตุลาการขอถอนตัว
๕.คู่พิพาทตกลงกันให้การเป็นอนุญาโตตุลาการสิ้นสุดลง (มาตรา๒๑ )
เรื่องของความรับผิดทางแพ่ง และทางอาญาของอนุญาโตตุลาการ :
๑. อนุญาโตตุลาการไม่ต้องรับผิดทางแพ่งในการกระทำตามหน้าที่เว้นแต่จะกระทำการโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงทำให้คู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียหาย
๒. อนุญาโตตุลาการต้องรับผิดทางอาญาต่อเมื่อเรียกรับหรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบเพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ(มาตรา๒๓)
เรื่องของอำนาจของอนุญาโตตุลาการ :
๑. อำนาจวินิจฉัยของเขตอำนาจของตนรวมถึงความมีอยู่หรือความสมบูรณ์ของสัญญาอนุญาโตตุลาการ
๒. อำนาจวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทอันอยู่ภายในของเขตอำนาจของคณะอนุญาโตตุลาการ
๓. อำนาจวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทอันอยู่ภายในขอบเขตอำนาจของคณะอนุญาโตตุลาการได้(มาตรา๒๔)
เรื่องการคัดค้านอนุญาโตตุลาการในการพิจารณาข้อพิพาท :
๑. จะต้องคัดค้านไม่ช้ากว่าวันยื่นคำคัดค้านต่อสู้ในประเด็นข้อพิพาท
๒. ในการคัดค้านว่าคณะอนุญาโตตุลาการกระทำเกินขอบเขตอำนาจ ต้องยื่นคัดค้านในทันทีที่เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้น
๓. การคัดค้านการวินิจฉัยขอบเขตอำนาจของอนุญาโตตุลาการ หรือคำชี้ขาดประเด็นข้อพิพาท ให้ยื่นคำคัดค้านต่อศาลที่มีเขตอำนาจให้วินิจฉัยชี้ขาดภายในสามสิบวันนับแต่ได้รับแจ้งคำชี้ขาด (มาตรา๒๔ วรรค๒ และวรรค ๓)
เรื่องสถานที่ดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการ :
๑. สถานที่ตามที่คู่พิพาทตกลงกัน
๒. ถ้าไม่ได้ตกลงกันไว้ ก็ให้คระอนุญาโตตุลาการกำหนดสถานที่โดยคำนึงถึงสภาพแห่งข้อพิพาทและความสะดวกของคู่พิพาท(มาตรา๒๖)
เรื่องวิธีการดำเนินกระบวนพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการ :
๑. ในกรณีที่คู่พิพาทมิได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น ให้คณะอนุญาโตตุลาการเป็นผู้กำหนดว่าจะสืบพยานหรือฟังคำแถลงการณ์ด้วยวาจาหรือเป็นหนังสือหรือจะดำเนินกระบวนพิจารณาโดยรับฟังเพียงเอกสารหรือพยานหลักฐานอื่นใดก็ได้
๒. ให้คณะอนุญาโตตุลาการแจ้งกำหนดนัดสืบพยานและนัดพิจารณาเพื่อตรวจสอบวัตถุสถานที่หรือเอกสารอย่างอื่นให้คู่พิพาททราบล่วงหน้าเป็นเวลาพอสมควร
๓. ข้อเรียกร้อง คำคัดค้าน คำร้องเอกสาร หรือข้อมูลทั้งหมดที่คู่พิพาทฝ่ายใดเสนอต่อคณะอนุญาโตตุลาการจะต้องส่งให้แก่คู่พิพาทอีกฝ่ายหนึ่งด้วย ทั้งนี้ให้รวมถึงรายงานของผู้เชี่ยวชาญหรือเอกสารหลักฐานใดๆ ซึ่งคณะอนุญาโตตุลาการจะต้องใช้ประกอบการชี้ขาดด้วย (มาตรา๓๐)
เรื่องการทำคำชี้ขาด :
๑. ให้คณะอนุญาโตตุลาการชี้ขาดข้อพิพาทไปตามกฎหมายที่คู่พิพาทกำหนด ถ้ามิได้กำหนดให้ชี้ข้อพิพาทไปตามกฎหมายไทย
๒. ถ้าคู่พิพาทมิได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น คำชี้ขาด คำสั่ง และคำวินิจฉัยในเรื่องใดๆ ของอนุญาโตตุลาการให้เป็นไปตามเสียงข้างมาก
๓. ถ้าไม่อาจหาเสียงข้างมากได้ให้ประธานคณะอนุญาโตตุลาการเป็นผู้ทำคำชี้ขาดมีคำสั่งหรือคำวินิจฉัยแต่เพียงผู้เดียว(มาตรา๓๔)
เรื่องการทำคำชี้ขาด :
๑. คำชี้ขาดต้องทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อคณะอนุญาโตตุลาการ
๒. คำชี้ขาดต้องระบุเหตุผลแห่งการวินิจฉัยไว้โดยชัดแจ้ง เว้นแต่คู่พิพาทกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น
๓. คำชี้ขาดจะเกินขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการหรือเกินคำขอของคู่พิพาทไม่ได้
๔. คำชี้ขาดต้องระบุวันและสถานที่ดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการ
๕. ให้คณะอนุญาโตตุลาการส่งสำเนาคำร้องชี้ขาดให้คู่พิพาททุกฝ่ายทราบ(มาตรา๓๗)
เรื่องการสิ้นสุดกระบวนพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการ :
๑. เมื่อคณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดเสร็จเด็ดขาด
๒. เมื่อคณะอนุญาโตตุลาการ
(๑) คู่พิพาทฝ่ายที่เรียกร้องขอถอนข้อเรียกร้อง เว้นแต่คู่พิพาทฝ่ายที่ถูกเรียกร้องได้คัดค้านการถอนข้อเรียกร้องดังกล่าว และคณะอนุญาโตตุลาการเห็นถึงประโยชน์อันชอบด้วยกฎหมายของคู่พิพาทฝ่ายที่ถูกเรียกร้องในการที่จะได้รับการวินิจฉัยในประเด็นข้อพิพาทนั้น
(๒) คู่พิพาทตกลงกันให้ยุติกระบวนการพิจารณา
(๓) คณะอนุญาโตตุลาการเห็นว่าไม่มีความจำเป็นที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปหรือไม่อาจดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปได้(มาตรา๓๘)
เรื่องการคัดค้านคำชี้ขาด :
๑. การคัดค้านคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการให้ยื่นต่อศาลที่มีเขตอำนาจ
๒.คู่พิพาทที่จะขอเพิกถอนคำชี้ขาดให้ยื่นต่อศาลที่มีเขตอำนาจภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำชี้ขาด(มาตรา๔๐)
เรื่องการเพิกถอนคำชี้ขาดของศาล : ให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดได้ในกรณีดังต่อไปนี้
(๑) คู่พิพาทฝ่ายที่ขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดสามารถพิสูจน์ได้ว่า
(ก) คู่สัญญาตามสัญญาอนุญาโตตุลาการฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้บกพร่องในเรื่องความสามารถตามกฎหมายที่ใช้บังคับแก้คู่สัญญาฝ่ายนั้น
(ข) สัญญาอนุญาโตตุลาการไม่มีผลผูกพันตามกำหมายแห่งประเทศที่คู่พิพาทได้ตกลงกันไว้ หรือตามกฎหมายไทยในกรณีที่ไม่มีข้อตกลงดังกล่าว
(ค) ไม่มีการแจ้งให้คู่พิพาทฝ่ายที่ขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดรู้ล่วงหน้าโดยชอบถึงการแต่งตั้งคณะอนุญาโตตุลาการหรือการพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการหรือบุคคลดังกล่าวไม่สามารถเข้าต่อสู้คดีในชั้นอนุญาโตตุลาการได้เพราเหตุประการอื่น
(๒) มีกรณีปรากฏต่อศาลว่า
(ก) คำชี้ขาดนั้นเกี่ยวกับข้อพิพาทที่ไม่สามารถจะระงับโดยการอนุญาโตตุลาการได้ตามกฎหมาย หรือ
(ข) การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน(มาตรา๔๐วรรค๒)
เรื่องการบังคับตามคำชี้ขาด : เมื่อคู่พิพาทฝ่ายใดประสงค์จะให้มีการบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ให้คู่พิพาทฝ่ายนั้นยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจภายในกำหนดเวลาสามปีนับแต่วันที่อาจบังคับตามคำชี้ขาดได้ เมื่อศาลได้รับคำร้องดังกล่าวให้รีบทำการไต่สวน และมีคำพิพากษาโดยพลัน (มาตรา๔๐)
เรื่องการห้ามอุทธรณ์คำสั่งหรือคำพิพากษาของศาล : คำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลตามพระราชบัญญัติห้ามมิให้อุทธรณ์ เว้นแต่
(๑) การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
(๒) คำสั่งหรือคำพิพากษานั้นฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน
(๓) คำสั่งหรือคำพิพากษานั้นไม่ตรงกับคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ
(๔) ผู้พิพากษาหรือตุลาการซึ่งพิจารณาคดีนั้นได้ทำความแย้งไว้ในคำพิพากษา หรือ
(๕) เป็นคำสั่งเกี่ยวด้วยการใช้วิธีการชั่วคราวเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของคู่พิพาทตามมาตรา ๑๖
การอุทธรณ์คำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลตามพระราชบัญญัตินี้ให้อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา หรือศาลปกครองสูงสุดแล้วแต่กรณี

3. สรุป
เพื่อเป็นการศึกษาทำความเข้าใจของพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 ข้อพิพาทที่ระงับได้ด้วยอนุญาโตตุลาการ ข้อพิพาททางแพ่งและพาณิชย์ทั้งปวงที่ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย เช่น สัญญาซื้อขาย สัญญาจ้างก่อสร้าง ข้อพิพาททางการปกครองระหว่างหน่วยงานของรัฐกับเอกชน และข้อพิพาททางอาญาที่อนุญาโตตุลาการตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 ไม่สามารถชี้ขาดได้

กิตติกรรมประกาศ
ผู้เขียนใคร่ขอขอบคุณคณะผู้จัดทำเว็บไซต์ และขอขอบคุณคณะผู้จัดทำเว็ปไซด์กูเกิลล์ ซึ่งเป็นเครื่องมือในการศึกษาค้นคว้า สืบค้นข้อมูลทางอิเลคทรอนิคส์ ถือว่าเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการเขียนบทความฉบับนี้ รวมถึงขอขอบพระคุณนักวิชาการในด้านกฎหมายเกี่ยวกับอนุญาโตตุลาการในงานวิศวกรรมที่มิได้เอ่ยนามมา ณ ที่นี้
ท้ายที่สุดนี้ขอขอบพระคุณ คณะอาจารย์ ผู้บริหารโครงการพิเศษ วิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ได้ให้โอกาสผู้เขียนในการศึกษาค้นคว้า เรื่องการอนุญาโตตุลาการเกี่ยวกับงานวิศวกรรม จึงทำให้เกิดเป็นบทความเรื่องนี้ขึ้น

เอกสารอ้างอิง
[1] สำนักงานระงับข้อพิพาท สำนักงานศาลยุติธรรม,2552. คู่มือการระงับข้อพิพาทสำหรับประชาชน. 9,500เล่ม. พิมพ์ครั้งที่5. นนทบุรี : เพชรรุ่งการพิมพ์.
[2] เรือเอก อานนท์ ไทยจำนง, 2548. ปัญหาและแนวทางการใช้สัญญาอนุญาโตตุลาการเพื่อการระงับ/ยุติข้อพิพาทในงานก่อสร้าง กรณีสัญญาก่อสร้างงานราชการ.บัณฑิตศึกษา สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ.
[3] มั่น ศรีเรือนทอง, 2541. อนุญาโตตุลาการสาขาวิชาชีพวิศวกรรมและงานก่อสร้าง. วารสารโยธาสาร 10, 3 (กรกฎาคม-กันยายน 2541) : 30-31.
[4] วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, 10 พฤศจิกายน 2552. อนุญาโตตุลาการ.http://th.wikipedia.org/wiki/อนุญาโตตุลาการ.
ประวัติผู้เขียน และผู้เขียนร่วม
นาย ธนกฤษ จันทรพิลา
น.บ. (นิติศาสตร์)
มหาวิทยาลัยรามคำแหง
ผู้ควบคุมงานก่อสร้าง
บริษัทโปร์เอ็นเทคโนโลยี่ จำกัด

วันศุกร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2553

กรณีศึกษา การบริหารโครงการ EL620

ความเป็นมาและสภาพปัญหา

เนื่องจากปัจจุบันสภาพเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศดีขึ้น ความต้องการด้านที่อยู่อาศัยก็เพิ่มมากขึ้น เพื่อสร้างความมั้นคงให้กับการดำรงค์ชีวิตในสังคมเมือง ดังนั้นบริษัท นครก่อสร้าง จึงริเริ่มที่จะทำธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เพิ่มเติมจาก ธุรกิจเดิมที่ทำงานก่อสร้าง และรับงานก่อสร้างอาคาร อยู่แล้ว จึงควรที่จะกำหนดเป้าหมาย ลูกค้าโดยลูกค้าระดับกลางซึ่งมีกำลังซื้อเพียงพอ และการแข่งขันทางการตลาดยังน้อยอยู่ จากการคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจขยายตัว 3-5 % ของ GDP
บริษัท นครก่อสร้างต้องจัดการโครงสร้างองค์กรใหม่ โดยแบ่งตามหน้าที่การจัดการ
กรรมการผู้จัดการ/ ประธานกรรมการ
ฝ่ายการตลาดและการขาย (วางเป้าหมายในการขายห้องชุด)
ฝ่ายวิจัยและพัฒนา (ตรวจสอบความต้องการของลูกค้า และหาทำเลที่ตั้ง รวมถึงแบบก่อสร้าง)
ฝ่ายการเงินและบัญชี(หาแหล่งเงินทุนและควบคุมระบบการเบิกจ่ายในการจัดการโครงการ)
ฝ่ายบุคคล(จัดหาบุคลากรเข้าดำเนินการในทุกส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอสังหาริมทรัพ)
ฝ่ายบริหารและควบคุมงานก่อสร้าง(ถือว่ามีความสำคัญมาก เพราะเป็นผู้กำหนดและควบคุมระยะเวลาโครงการรวมไปถึงค่าใช้จ่ายภายในโครงการ และคุณภาพของงานที่ออกสู่ตลาด)
ฝ่ายจัดซื้อและจัดจ้าง (จัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือ ที่ใช้ในโครงการ)
ฝ่ายกฎหมาย (เตรียมการเรื่องของนิติกรรมสัญญา การโอนกรรมสิทธ์ การตรวจสอข้อกฎหมายเกี่ยวกับอาคารชุด)
ฝ่ายธุรกิจเฉพาะ (ติดต่อหน่วยราชการ สาธารณูปโภค)
ฝ่ายไอที

ขั้นตอน การทำความเข้าใจหน้าที่การบริหารโครงการ ในฝ่ายต่างๆ ตั้งแต่
1. การกำหนดกลยุทธ์ทางธุรกิจโดยผู้บริหารระดับสูง
2. การวางแผน และกำหนดความต้องการของโครงการ
3. การวิเคราะห์และออกแบบโครงการ
4. การควบคุมติดตามตรวจสอบ (วัดความก้าวหน้า, การประเมินงานส่วนที่เหลือ, การแก้ไขให้ถูกต้อง

ขั้นตอน ของการกำหนดวัตถุประสงค์ ของโครงการอย่างชัดเจน ดังนี้
โดยทำโครงการอาคารสูง 7 ชั้น ไม่เกิน 4,000 ตรม. ให้เสร็จภายใน 1 ปี รวมตกแต่งภายใน และเริ่มสร้างแบรนให้มีชื่อเสียงเพื่อทำอาคารสูงต่อไปในอนาคตเมื่อกำหนดวัตถุประสงค์แล้วเสร็จ เมื่อกำหนดโครงการแล้วสิ่งที่ต้องคำนึงถึงต่อไปในการทำโครงการให้สำเร็จได้และมีความสำคัญคือ
1.ยึดหลักการตรงต่อเวลา โดยโครงการต้องแล้วเสร็จทันเวลาที่กำหนด
2.ยึดหลักของการทำโครงการตามงบประมาณที่กำหนดไว้ กล่าวคือโครงการที่ทำเพียงพอกับงบประมาณที่มีอยู่
3.เป็นไปตามความต้องการของลูกค้าจากการสำรวจข้อมูลทางการตลาด
จากวัตถุประสงค์ที่กล่าวมาเห็นได้ว่าระยะเวลา และผลสำเร็จของโครงการมีผล
กับต้นทุนโดยรวมด้วยเป็นอย่างมาก

ขันตอน การพิจารณาหลักการและเหตุผล
โดยที่ควรจะเน้นจุดแข็งที่สามารถก่อสร้างได้เอง ควรจะเลือกทำเลที่ขายได้สะดวกรวดเร็วที่สุด คือ กรุงเทพมหานคร และอยู่ในแนว รถไฟฟ้า สีม่วงที่กำลังเริ่มก่อสร้าง เพราะราคาที่ดินจะถูกกว่า แนวรถไฟฟ้าที่มีอยู่แล้วและอยู่ในเมือง เพื่อที่จะสร้างความแตกต่างจาก ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เจ้าใหญ่ ที่มีแบรนติดอยู่ในตลาด แล้วเช่น LPN, ศุภาลัยหรือ แสนศิริ เป็นต้น เราจึงจำเป็นต้อง เพิ่มมูลค่าโดยพยายามหาแบบที่ได้ราคาค่าก่อสร้างที่คุ้มค่ากว่าผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์เจ้าเดิม แต่ราคาถูกกว่านิดหน่อย
ความสูงไม่ควรเกิน 7 ชั้น หรือ 23 เมตร และแต่ละอาคารไม่เกิน 80 ห้องพัก เพื่อ ไม่ให้เข้าข่าย อาคารสูง หรือ อาคารขนาดใหญ่ ซึ่งจะมีค่าใช้จ่าย หลายอย่างเช่น ในงานระบบดับเพลิง ระบบไฟฟ้าสำรอง และลิฟท์ดับเพลิง เพิ่มขึ้นอีกมาก และเสียเวลาขออนุญาตผลกระทบสิ่งแวดล้อมหลายๆ เดือน และระยะเวลาก่อสร้างจะยาวนานเกินไป ถ้าเป็นไปได้ ควรทำเป็นหลังเล็กๆ และมีสโมสรและสระว่ายน้ำรวมเพื่อเพิ่มความน่าสนใจให้กับโครงการ และทยอย สร้างตาม ยอดจองของลูกค้า เพื่อที่จะได้ไม่ต้องมีภาระเรื่องดอกเบี้ย เพราะหากสร้างอาคารสูงมากกว่านี้จะมีปัญหา จากวงจรชีวิตของโครงการ ตั้งแต่
ช่วงที่ 1 กำหนดโครงการ
ช่วงที่ 2 วางแผนโครงการ (Project Planning)
ช่วงที่ 3 การออกแบบ (Design Preliminary)
ช่วงที่ 4 ปฏิบัติโครงการ (Project Construction)
ช่วงที่ 5 โครงการแล้วเสร็จ (Project Complete)
ถ้าเป็นการก่อสร้างอาคารสูง หรืออาคารใหญ่ที่มีพื้นที่ใช้สอยมากกว่า 5,000 ตร.ม แต่ละช่วงงานข้างต้นต้องใช้ระยะเวลานานในการดำเนินงานก่อสร้างตามไปด้วยจึงอาจส่งผลกระทบกับบริษัทได้ เพราะการดำเนินงานของบริษัทโดยเฉพาะโครงการนี้เป็นเสมือนการเริ่มต้นอาจเกิดปัญหา หรือข้อผิดพลาดเรื่องต่างๆกับโครงการได้ และอีกกรณีคือบุคคลากรที่มีอยู่อาจไม่มีความชำนาญพอสำหรับโครงการประเภทนี้ซึ่งถือว่าใหม่สำหรับบริษัท เพราะว่าเดิมเป็นเพียงบริษัทรับเหมาก่อสร้างอาคารเท่านั้น การที่จะดำเนินการก่อสร้างอาคารชุดเพื่อขาย ซึ่งกว่าจะสามารถโอนห้องชุดให้ลูกค้าและรับเงินได้ครบ อาจเกิดปัญหาสภาพคล่องในการก่อสร้างได้

ขั้นตอน การศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ ในกระบวนการทำงานนั้นต้องอาศัยหลักขั้นตอนการศึกษาต่อไปนี้
1.T. Technical Feasibility ศึกษาความเป็นไปได้ทางเทคนิค โดยมองจาก
เทคนิคที่ทันสมัยในปัจจุบันเพื่อประยุกต์ใช้กับโครงการ
2.O. Operational Feasible ศึกษาความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ สามรถทำงาน
ได้ง่าย รวมถึงการบำรุงดูแลรักษา
3.E. Economical Feasible or Justification ศึกษาถึงความคุ้มค่าทาง
เศรษฐศาสตร์โดยเมื่อเทียบกับผลลัพธ์ที่จะได้ตลอดระยะเวลาที่กำหนด เช่น โครงการแล้วเสร็จภายใน 1 ปี ผลตอบแทนต้องมากกว่าเงินลงทุนและค่าใช้จ่ายตลอดระยะเวลา 1 ปี เมื่อเทียบกับโครงการอื่นที่บริษัทได้ทำมา
4.S. Schedule ศึกษาถึงระยะเวลาของโครงการต้องไม่ยาวนานเกินควร กล่าวคือ
การใช้ระยะเวลาการก่อสร้างโครงการต้องไม่เกิน 1 ปี
การศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการก่อสร้างนี้ ควรต้องมีการทำไม่ว่าโครงการขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่เพราะต้องใช้ทรัพยากร 4 ชนิด คือ บุคลากร, ทุนทรัพย์, เครื่องจักร และวิธีการทำโครงการ
หลังจาการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการก่อสร้างแล้วนำเสนอต่อคณะผู้บริหารโครงการเพื่อขออนุมัติให้ดำเนินการตามโครงการต่อไป เพื่อจะได้เข้าสู่ระบบกระบวนการดำเนินงานก่อสร้างโครงการต่อไป อีกทั้งเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างโดยตรง และผู้ที่เข้ามาซื้อหรือเยี่ยมชมโครงการ
โดยมองจากการกำหนดทำเลที่ตั้งโครงการก่อสร้าง เป็นอันดับแรก จากการหาที่ดินที่ใช้ในการก่อสร้าง โดยตรวจสอบดูว่า สามารถก่อสร้างได้ถูกต้องตามกฎหมายผังเมือง และ พ.ร.บ. ควบคุมอาคารหรือไม่ อาจจะต้องเปรียบเทียบในหลายๆพื้นที่ กับหลายๆโครงการที่เกิดขึ้น เพื่อให้เหมาะสมกับ แบบก่อสร้างที่มีการประมาณราคาไว้แล้วเบื้องต้น รวมถึงความเหมาะสมในความต้องการของผู้ซื้อ เมื่อรวมราคาค่าที่ดิน, ค่าก่อสร้าง, ค่าบริหารโครงการ, ค่าบริหารงานขาย โฆษณา ต่างๆ แล้ว มีกำไรตามที่ต้องการ
เมื่อได้ทำการซื้อขายที่ดิน และออกแบบรายละเอียด แล้ว จะต้องมีการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโครงการในด้านต่างๆ ดังนี้
- การวิเคราะห์ทางด้านเทคนิค
- การวิเคราะห์ทางด้านการตลาด
- การวิเคราะห์ด้านการเงิน
- การวิเคราะห์ด้านการบริหาร
- การวิเคราะห์ด้านสังคม
- การวิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจ
- การวิเคราะห์ด้านสิ่งแวดล้อม
- การวิเคราะห์ด้านการเมือง
เมื่อรวบรวมวิเคราะห์ความเสี่ยงแล้ว เบื้องต้นปัญหาที่ส่งผลกระทบกับโครงการมากที่สุดคือ ปัญหาทางด้านการเมืองที่ไม่แน่นอน อาจส่งผลกระทบกับโครงการได้เนื่องจากระยะเวลาการก่อสร้างโครงการให้แล้วเสร็จตามเป้าหมายเดิมที่วางไว้คือทำโครงการอาคารสูง 7 ชั้น หลังแรกต้องให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี

ขั้นตอน การขออนุญาตตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยเมื่อทีม สถาปนิกและวิศวกรออกแบบ เสร็จพร้อมขออนุญาต ก่อสร้าง เรียบร้อยแล้ว ก็อาจจะสามารถ นำโครงการ พร้อมการวิเคราะห์จุดคุ้มทุน และความเป็นไปได้ต่างๆของโครงการก่อสร้างเพื่อไปหา ความสนับสนุนด้านการเงินจากสถาบันการเงิน โดยทำข้อเสนอโครงการส่งไปยังสถาบันการเงิน โดยมีการกำหนดรายละเอียดคือ
1.สถานที่ตั้งโครงการก่อสร้าง
2.ชื่อโครงการก่อสร้าง
3.หลักการและเหตุผลที่ต้องทำโครงการก่อสร้างนี้
4.วิธีการดำเนินการโครงการก่อสร้าง
5.กำหนดระยะเวลาดำเนินการโครงการก่อสร้าง
6.งบประมาณ และทรัพยากรที่ต้องใช้ในโครงการก่อสร้าง
7.หน่วยงานหรือผู้รับผิดชอบโครงการก่อสร้าง
8.ความเสี่ยงของโครงการก่อสร้าง
9.ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการก่อสร้างนี้

ขั้นตอน การจัดองค์ประกอบของโครงการ ในการจัดทำโครงการก่อสร้างส่วนประกอบสำคัญส่วนหนึ่งคือที่จะทำให้โครงการสำเร็จได้โดยราบรื่น จะต้องดำเนินการโดยบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการ ตั้งแต่ระดับสูงจนถึงระดับปฏิบัติการ โดยกระบวนการทำงานต้องอาศัยประสบการณ์ของบุคลากรในทุกระดับ ความมุ่งมั่น ความตั้งใจ ความเอาใจใส่ การให้เวลา การให้การสนับสนุน ความขยันหมั่นเพียร ความ
พร้อมใจ ความที่มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน สิ่งเหล่านี้ต้องสร้างให้เกิดขึ้นในองค์กรที่มีโครงการ เพื่อให้โครงการมีโอกาสประสบความสำเร็จได้อย่างสูง
การจัดองค์กรภายในโครงการประกอบด้วย
1.คณะผู้บริหารโครงการ ( Management Team) อาจเป็นคณะบุคคล หรือเป็น
บุคคลเพียงคนเดียวในการตัดสินใจดูแลงานทั้งหมดภายในองค์กร
2.คณะทำโครงการ (Project Team) ผู้จัดการโครงการ, วิศวกร , ผู้ปฏิบัติงาน
อื่นๆในโครงการก่อสร้าง

ขั้นตอน การบริหารโครงการ (Project Management)หลังจากการทำการศึกษาความเป็นไปได้แล้ว ฝ่ายบริหารจะต้องทำการแต่งตั้งคณะบริหารโครงการ และคณะทำงานขึ้นใหม่ ถึงแม้จะเป็นคณะเดียวกับการศึกษาความเป็นไปได้ก็ตาม แต่ต้องมีการแต่งตั้งให้เป็นทางการอีกครั้ง เพื่อให้รู้ว่าได้มีการเริ่มทำงานในขั้นต่อไป โดยคณะทำงานจะต้องจัดทำการประมาณการ และแผนงานของโครงการกำหนดหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องในโครงการ จากนั้นคณะทำงานดำเนินการตามแผนกระบวนการพัฒนาระบบงานของโครงการ ในระหว่างนั้นกระบวนการบริหารโครงการจะต้องดำเนินการควบคู่กันไปด้วยคือ
1.ติดตามผลการดำเนินการอาจเป็นรายสัปดาห์ รายเดือน รายครึ่งปี
2.จัดให้มีการทบทวนงานที่ทำเป็นระยะๆ ซึ่งมีการกำหนดไว้แน่นนอนว่าจะทบทวนกันเมื่อไร เช่น ทุกๆ 3 เดือน
3.มีการควบคุม ติดตามผล ดูแลการเปลี่ยนแปลงโดยกำหนดกฎเกณฑ์ เมื่อมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลง
4.ให้มีการประสานงานกันโดยทั่วถึงทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการ
ดังนั้นการบริหารโครงการก่อสร้างจะต้องมีวิธีดำเนินการดังนี้
การวางแผนหลักของโครงการ (Master Plan Schedule) เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างหนึ่งในการบริหารโครงการ เป็นแนวทางอย่างหนึ่งที่จะให้ผู้เกี่ยวข้องกับโครงการรับทราบว่าโครงการต้องการอะไรบ้างเป็นงานหลักที่ต้องทำเมื่อเริ่มดำเนินการก่อสร้าง การมีแผนงานโครงการทำให้เห็นถึงขั้นตอนกระบวนการของโครงการที่เกิดขึ้น และเห็นถึงปัญหาและอุปสรรคของโครงการที่เกิดขึ้นเพื่อนำไปสู่แนวทางแก้ไขเพื่อให้โครงการก่อสร้างแล้วเสร็จ
การวางแผนการทำงาน เป็นการกำหนดเรื่อง ขอบข่ายของโครงการสร้าง ชนิดของโครงการกสร้าง เวลาที่ใช้กับโครงการก่อสร้าง รวมไปถึงการจัดทรัพยากรของโครงการ
แผนงานสำคัญของโครงการก่อสร้างที่มี
-แผนดำเนินงานก่อสร้าง (Construction Plan)
-แผนการใช้บุคคล (Manpower Plan)
-แผนควบคุมการเปลี่ยนแปลง (Change Order Plan)
-แผนการทำรายงานแสดงสถานภาพความก้าวหน้าของงาน( Tree week Schedule)
การมีแผนงานโครงการก่อสร้างทำให้ผู้เกี่ยวข้องกับโครงการก่อส้ราง ได้ทราบ
ความคืบหน้า, การเคลื่อนไหว และสิ่งที่เกิดกับโครงการ การใช้ทรัพยากรของโครงการ
ควรมีการวางแผนเมื่อได้รับมอบหมายให้ทำโครงการก่อสร้าง เป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการโดยด่วน และต้องมีการปรับเปลี่ยนได้ตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงขณะนั้น การทำแผนเป็นเหมือนการถ่ายภาพโครงการ ดังนั้นทุกครั้งที่มีการถ่ายภาพจะได้มองเห็นความเปลี่ยนแปลง และเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทรัพยากรต่างๆ และระยะเวลาสามารถทบทวนใหม่ได้เมื่อ วัตถุประสงค์ของโครงการมีการเปลี่ยนแปลง เกิดงานซับซ้อนในงานที่วางแผนไว้ เป็นต้น
ผู้ที่ทำแผนงานโครงการ คือผู้จัดการโครงการซึ่งถือว่าเป็นบุคคลสำคัญของโครงการที่มีผลทำให้โครงการแล้วเสร็จ ดังนั้นผู้จัดการโครงการต้องมีแผนงานไว้เป็นแนวทางการปฏิบัติงานเพื่อรู้ถึงสถานของโครงการทุกขณะ ส่วนของผู้ปฏิบัติงานนั้นจะเป็นผู้ดำเนินงานให้โครงการเป็นไปตามแผนที่ได้รับมอบหมาย
การวางแผนงานโครงการมีวิธีทำหลายวิธีเพื่อให้โครงการแล้วเสร็จ
1.การกระจายงานลงมาเป็นโครงสร้าง ( Work Breakdown Structure)มีลักษณะ
เป็นโครงสร้างซึ่งเป็นการบอกถึงขอบข่ายงานทั้งหมด
2.Bar Chart /GANTT Chart แผ่นงานโดยวิธีลากเส้นบอกถึงระยะเวลาแต่ละ
งาน การทำแผน Bar Chart มักจะเป็นโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ และมีงานไม่มากสามารถดูแลทั่วถึง
3.PERT/CPM เป็นแผนงานการทำงานขนาดใหญ่ที่มีเนื้องานจำนวนมากยากที่
จะติดตามได้ทั่วถึง เป็นวิธีการแสดงความสัมพันธ์ของงานแต่ละงานและแสดงถึงเส้นวิกฤติให้เห็นว่าส่วนใดของงานล่าช้าไปกระทบกับงานส่วนอื่นๆ
ซึ่งแผนงานทุกแบบขึ้นอยู่กับผู้บริหารโครงก่อสร้างการว่าใช้แผนใด

ขั้นตอน การดำเนินการก่อสร้างโครงการ (Project Construction)
เนื่องจากบริษัทเคยผ่านงานก่อสร้างมาแล้วจึงไม่เป็นการยากในการที่จะเริ่มงาน โดยเริ่มจากการสำรวจเขตพื้นที่ก่อสร้าง วางผัง วางหมุดเตรียมงานตอกเสาเข็ม หากพื้นที่ก่อสร้างติดกับเขตพื้นที่บุคคลอื่นอาจต้องใช้ระบบเข็มเจาะแทนเข็มตอก เพื่อป้องกันปัญหาที่เกิดกับชุมชนรอบโครงการ หากใช้เข็มตอก และ การเตรียมห้องตัวอย่าง (Mockup room) เพื่อให้ลูกค้าเยี่ยมชมโครงการ ถ้าเป็นไปได้ และให้มีการจัดทำแผนงานก่อสร้างโดย
-กำหนดวัตถุประสงค์ ทรัพยากรที่ต้องการ และขอบเขตของโครงการ
-ระบุกิจกรรม หรือ งานต่างๆ จะต้องมีการจำแนกงานจากงานหลักโดย แตกออกเป็นงานรอง งานย่อย จัดหมวดหมู่ และระบุงานแต่ละอย่างไว้อย่างชัดเจน
-กำหนดตารางเวลางาน โดยกำหนดเวลาเริ่มต้นและกำหนดเวลาแล้วเสร็จแต่ละงานไว้
-ทำ แผนภูมิ GANTT Chart และกำหนดตารางงานเครือข่ายงาน และหาเส้นทางวิกฤตของโครงการ เพื่อทราบระยะเวลาในการกำหนดแล้วเสร็จ ของแต่ละงานของอาคาร
-ต้องทำการคำนวณต้นทุนของโครงการ ต้นทุนทางตรงของโครงการ ต้นทุนทางอ้อมของโครงการ และคำนวณเวลาที่เหมาะสมของโครงการ คือเวลาที่ทำให้สามารถดำเนินโครงการได้เสร็จ และเสียต้นทุนรวมต่ำที่สุด
-การประมาณต้นทุน ใช้แบบการวิเคราะห์ต้นทุนโดยการจำแนกกิจกรรมต่างๆ ของงานตามโครงสร้างการจำแนกงาน (Work breakdown structure )
และ ต้นทุนทั่วไปด้านบริหาร และการจัดการ 20 % ของต้นทุนทางตรงเพราะบริษัทไม่มีประสบการณ์จากโครงการเก่าในด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์
- องค์ประกอบของงบประมาณ
- ส่วนที่เป็นรายรับ
- ส่วนที่เป็นต้นทุนของโครงการ
- ส่วนที่เป็นค่าตอบแทน
- ส่วนที่เป็นสำรอง
- ดูการกระจายของงบประมาณให้เป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนดของโครงการ
ในการดำเนินการก่อสร้างโครงการ ต้องมีการประเมินและบริหารความเสี่ยงของโครงการ (Project Risk Analysis and Management) โดนำวิธีบริหารโครงการเข้ามาใช้ทำให้งานแต่ละขั้นตอนเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้

โดยความเสี่ยงที่เกิดจากปัจจัยภายในโครงการก่อสร้าง มี 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ
-ความเสี่ยงด้านการตลาด
-ความเสี่ยงด้านเทคนิค
ความเสี่ยงที่เกิดจากปัจจัยภายนอกโครงการก่อสร้างที่สำคัญคือ
-ความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจ
-ความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ย
-ความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยน
-ความเสี่ยงที่เกิดจากการยอมรับของตลาด
-ความเสี่ยงที่เกิดจากข้อกำหนดกฎเกณฑ์ของรัฐบาล
-ความเสี่ยงที่เกิดจากขาดทรัพยากร
-ความเสี่ยงที่เกิดจากบริษัทแม่ทางด้านการเงินและการบริหาร
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการบริหารความเสี่ยงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับโครงการที่ต้องการ
ความมั่นคงในการที่จะดำเนินธุรกิจด้านพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ต่อไป จึงเห็นได้ว่าวงจรการบริหารความเสี่ยงมีความสัมพันธ์กับวงจรชีวิตของโครงการก่อสร้างโดยตรง เพราะการปรับเปลี่ยนรายการที่เป็นความเสี่ยงแม้ว่าจะอาศัยประสบการณ์จากการวิเคราะห์โครงการก่อสร้างที่เคยทำมาก่อน และประสบการณ์ในการทำงานก่อสร้างโครงการอื่นที่ผ่านมา
สรุปได้ว่าการประเมิน และการจัดการความเสี่ยงของโครงการก่อสร้าง ทุกโครงการถือว่าเป็นความสำคัญ และทุกโครงการมีความเสี่ยงในการตัดสินใจที่ดีที่เล็งเห็นถึงความไม่แน่นอนในโลกแห่งความเป็นจริง ซึ่งสามารถนำพาบริษัทให้ปลอดภัย และมีผลกำไรจากโครงการที่ทำได้ อีกประการหนึ่งคือการวิเคราะห์ความเสี่ยงเป็นเสมือนตัวบ่งชี้ วัดว่าจะเกิดผลกระทบกับโครงการ หรือทำให้โครงการได้รับความเสียหาย ผู้จัดการโครงการที่ประเมินความเสี่ยงพบว่า โครงการจะมีต้นทุนเกินกว่าที่ประมาณไว้ หรือใช้เวลาเกินกว่าที่ประมาณการไว้ หรือไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ได้กำหนดไว้ สามารถปรับปรุงให้ประสบความสำเร็จได้

ขั้นตอน การทำแผนการตลาดให้กับโครงการ (Project Marketing Plan)
โดยอาจจะทำสำนักงานขาย และการตลาดทุกๆ อย่างด้วยทีมงานของบริษัทที่มีอยู่เอง หรือ อาจจะจ้างตัวแทนนายหน้าที่มีความชำนาญด้านการขายอยู่แล้ว มาร่วมดำเนินการในส่วนการตลาดให้ทั้งหมด ก็ได้
จากนั้นก็เริ่มบริหารงานก่อสร้าง โดยควรจะเน้นจุดแข็งของการทำงานในทุกภาคส่วนให้มีคุณภาพ โดยในส่วนโครงสร้างเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อน 3 ชั้น แล้วจึงดำเนินการเริ่มงานสถาปัตย์ห้องตัวอย่าง (Mock up Room) ให้แล้วเสร็จ เพื่อให้ลูกค้าที่เข้าเยี่ยมชมโครง ได้ทราบ มาตรฐานฝีมือช่าง ผลงานที่จะได้รับ ลดปัญหาที่จะตามมาภายหลัง รวมไปถึงการเข้าเยี่ยมชมโครงการของลูกค้าในโอกาสต่อๆไป

ขั้นตอน การกำกับ ควบคุมดูแลโครงการ (Project Monitoring)
- ขั้นการกำหนดมาตรฐานของการทำงานโครงการ โดยอ้างอิงจากมาตรฐานของวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย หรือมาตรฐานของกรมโยธิการและผังเมือง
- ขั้นการวัดผลการปฏิบัติงาน ต้องมีการทำการทดสอบวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างทุกขั้นตอน
- การเปรียบเทียบขั้นปฏิบัติการในแต่ละงาน
จุดสำคัญของการควบคุม
- การควบคุมคุณภาพ (Quality Control)
- ควบคุมเวลา (Timing Control)
- ควบคุมค่าใช้จ่าย (Cost Control)
- กาควบคุมวัสดุอุปกรณ์ (Material Control)

ขั้นตอน การเริ่มงานสถาปัตย์
การเริ่มงานสถาปัตย์ต้องทำตามงานโครงสร้าง คือเมื่อทำงานโครงสร้างได้ 4 หรือ 5 ชั้นแล้วจึงเริ่มงานก่ออิฐ ฉาบปูน และงานระบบประกอบอาคาร ค่อยตามหลัง
จากนั้นอีกที เมื่องานโครงสร้างเสร็จหมด งานสถาปัตย์ก็ได้หลายชั้นแล้วซึ่งหากไม่มีปัญหาในการขาย ก็สามารถสร้างให้เสร็จได้เลย แต่หากมีปัญหาก็อาจจะต้องปรับแผนงานการตลาดเพิ่มโปรโมชั่นให้ลูกค้าเพื่อเพิ่มยอดขาย
ในการทำงานส่วนที่เป็นงานเปียกทั้งหมดควรทำให้แล้วเสร็จ ก่อนงานตกแต่งภายในเข้าพื้นที่เพราะหากงานเปียกยังไม่เสร็จนั้นจะทำให้ไม่สามารถทำงานตกแต่งได้เนื่องจากจะทำให้เกิดความเสียหายกับเฟอร์นิเจอร์แล้วก่อให้เกิดค่าใช้จากที่ไม่จำเป็นในการซ่อม และแก้ไข รวมถึงที่สูญเสียในการแก้ไขงาน ในส่วนของงานแห้งที่ทำได้ง่ายๆ ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ใครให้ดำเนินการต่อไปจนกว่าโครงการแล้วเสร็จ จากการประมาณการตึกสูง 7 ชั้น ควรจะสร้างเสร็จและโอนให้ลูกค้าได้ภายใน 1 ปี

ขั้นตอน การตรวจสอบโครงการ (Project Inspection)- การกำหนดมาตรฐาน การตรวจสอบงานก่อสร้าง (Inspection & Test Plan)

- การตรวจสอบระหว่างดำเนินการก่อสร้าง ( Inspection check list)
- ตรวจสอบภายหลังปิดโครงการโดยมีงานสำคัญที่ต้องคำนึงถึงคือ การ
ประเมินว่าผลงานของโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อผู้มีส่วนได้เสียหรือไม่ ประเมินว่ามีการปฏิบัติการใดผิดพลาดบ้าง หรือประสบความสำเร็จบ้าง ประเมินว่ามีการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างสำหรับโครงการนี้
ถ้าใช้ระบบผนังสำเร็จรูปในส่วนผนังภายนอกได้ก็จะทำงานได้เร็วขึ้น และ คุ้ม
ค่าเป็นการลดต้นทุนทางหนึ่ง โดยใช้ Tower crane ทำการติดตั้ง ซึ่งถือว่าเป็นการนำเทคโนโลยี่ เข้ามาช่วยเสริมในโครงการก่อสร้าง สำหรับโครงการก่อสร้างหากสามารถใช้ Tower crane ทำงานได้ครอบคลุม ทั้ง 4 ตึกซึ่งถือคุ้มค่าในการใช้งาน การใช้ความสามารถในการเป็นผู้นำที่มีประสบการณ์ด้านงานก่อสร้างมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์ และผู้นำด้านราคา เมื่อขายได้หมด 1 ตึกแล้วเราก็จะทราบความต้องการของลูกค้ามากขึ้น และเตรียมดำเนินการอาคารอื่นๆต่อไป
การตอบสนองความเสี่ยง สามารถใช้วิธีปรับแบบในหลังที่ 2,3,4 ให้เหมาะกับ สภาพเศรษฐกิจ และต้นทุน ได้ดีและง่ายกว่าการสร้างตึกสูงมากๆ
ระดับของการตรวจสอบแบ่งเป็น 3 ระดับคือ
- การตรวจสอบโดยทั่วไป
- การตรวจสอบในรายละเอียด
- การตรวจสอบทางเทคนิค
ทำรายงานการตรวจสอบได้แก่
- บทนำ สรุปเกี่ยวกับโครงการรวมถึงเป้าหมายและวัตถุประสงค์
- สถานภาพในปัจจุบัน
- สถานะภาพโครงการในอนาคต
- ประเด็นการบริหารจัดการที่สำคัญ
- การวิเคราะห์และบริหารความเสี่ยง
- ข้อเสนอแนะแนบท้าย
ต่อมาเมื่อบริษัทมีประสบการณ์และมีชื่อเสียงจากโครงการแรก แล้วจึงค่อยขยายทำอาคารที่สูงมากขึ้น ในพื้นที่ใกล้เมืองเรียบแนวทางขนส่งระบบราง และแนวรถไฟฟ้าที่เปิดใช้งานได้อยู่แล้ว สามารถปรับปรุงทีมงานฝ่ายการตลาดให้แข็งแกร่งพร้อมเข้าสู่
การแข่งขันทางการตลาดกับคู่แข่งทางการค้าอื่น และฝ่ายพัฒนาและวิจัยมุ่งหมั้นพัฒนาองค์กร และการหาทำเล การออกแบบอาคารให้ทันสมัย และสอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า และ สภาพความมั่นคงของบริษัท เพื่อพร้อมเข้าสู่ตลาดการแข่งขันด้านบริหารอสังหาริมทรัพย์ในอนาคตต่อไป

ผลกระทบการบอกเลิกสัญญาก่อสร้างต่อเจ้าของโครงการ และผู้ประกอบการก่อสร้าง ศึกษาเฉพาะกรณีคลังเก็บวัสดุโรงงาน

๑. คำนำ
สัญญาก่อสร้างเป็นนิติกรรมประเภทหนึ่งที่เป็นสัญญา และสัญญาก่อสร้างที่เกิดขึ้นเรียกว่าสัญญาจ้างทำของ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ คำว่า “นิติกรรม” ความหมายตามประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ (มาตรา ๑๔๙) นิติกรรม หมายความว่าการใดๆ อันทำลงโดยชอบด้วยกฎหมายและด้วยใจสมัครมุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคล เพื่อจะก่อ เปลี่ยนแปลง โอนสงวน หรือระงับสิทธิ “สัญญาจ้างทำของ” ความหมายตามประประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (มาตรา ๕๘๗) ของสัญญาว่าจ้างทำของนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่า ผู้รับจ้าง ตกลงรับจะทำการสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จ ให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่า ผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้น
สาระ สำคัญของสัญญาจ้างทำของ มีดังนี้
1. สัญญาจ้างทำของเป็นสัญญาต่างตอบแทนกล่าวคือ ผู้รับจ้างจะต้องทำงานอย่าง
หนึ่งอย่างใดจนสำเร็จให้แก่ผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างต้อง ให้สินจ้างเพื่อผลงานนั้น ทั้งนี้สินจ้างดังกล่าวอาจเป็นเงินตราหรือทรัพย์สินอย่างอื่นก็ได้ตามแต่ จะตกลงกัน
2. สัญญาจ้างทำของเป็นสัญญาที่มุ่งถึงผลสำเร็จของงานที่ทำเป็นสำคัญกล่าวคือ
วัตถุประสงค์ของสัญญาจ้างทำของ คือ “ผลสำเร็จของงาน” ไม่ใช่ต้องการ เฉพาะแต่แรงงานของผู้รับจ้างเท่านั้น เช่น จ้างก่อสร้างบ้าน ทำเฟอร์นิเจอร์ ติดกระจก ซ่อมหลังคาบ้าน จ้างตัดเสื้อผ้า หรือจ้างว่าความ เมื่อไม่ใช่การจ้างแรงงาน นายจ้างจึงไม่ต้อง รับผิดร่วมกับลูกจ้างใน ผลแห่งการละเมิดต่อบุคคลภายนอก ผู้รับจ้างจึงมีอิสระในการทำงาน มากกว่าลูกจ้างในสัญญาจ้างแรงงาน โดยที่ผู้รับจ้างไม่ได้อยู่ในความควบคุม บังคับบัญชาของผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างไม่มีสิทธิจะสั่งงาน หรือบงการผู้รับจ้าง
3. สัญญาจ้างทำของเป็นสัญญาที่ไม่มีแบบกล่าวคือ สัญญาจ้างทำของเกิดขึ้นโดยการแสดงเจตนาตกลงกัน แม้ด้วยวาจาก็สามารถใช้บังคับได้
ความระงับแห่งสัญญาจ้างทำของ
1. เมื่อผู้รับจ้างทำงานเสร็จ แล้วส่งมอบ และได้รับค่าจ้างครบถ้วน
2. เมื่อคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งใช้สิทธิเลิกสัญญา
3.โดยผลของกฎหมาย
(1) ผู้ว่าจ้างบอกเลิกสัญญาเสียเมื่อใดก็ได้ ถ้าการที่จ้างยังไม่เสร็จ แต่ต้องชดเชยค่าเสียหายที่จะพึงมีให้แก่ผู้รับจ้าง
(2) เมื่อผู้รับจ้างตาย หรือตกเป็นผู้ไม่สามารถทำการงานนั้นได้ ถ้าสาระสำคัญของสัญญาอยู่ที่ความรู้ความสามารถของผู้รับจ้างอา ยุความ- การฟ้องผู้รับจ้างให้รับผิดในความชำรุดบกพร่อง ต้องฟ้องภายใน 1 ปี- กรณี ผิดสัญญาจ้าง ต้องฟ้องภายใน 10 ปี
“งานก่อสร้าง” หมายความว่า การประกอบการเกี่ยวกับการก่อสร้างสิ่งก่อสร้างทุกชนิด เช่น อาคาร สนามบิน ทางรถไฟ ทางรถราง ถนน อุโมงค์ ท่าเรือ อู่เรือ คานเรือ สะพานเทียบเรือ สะพาน ทางน้ำ ท่อระบายน้ำ ประปา รั้ว กำแพง ประตู ป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือ ตั้งป้ายพื้นที่ หรือสิ่งก่อสร้างเพื่อจอดรถ กลับรถ และทางเข้าออกของรถ รวมถึงการต่อเติม ซ่อมแซม ซ่อมบำรุง ดัดแปลง เคลื่อนย้าย หรือการรื้อถอนทำลายสิ่งก่อสร้างนั้นด้วย (คัดลอกมาจาก กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับงานก่อสร้าง พ.ศ. 2551)
“บริหารโครงการ” หมายถึง การจัดการ การใช้ทรัพยากรต่างๆ ที่มีอยู่อย่างเหมาะสมและสมบูรณ์ที่สุด เพื่อให้การดำเนินโครงการบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้“โครงการ (Project)” คือ ข้อเสนอที่จะดำเนินงานในเรื่องใดเรื่องหนึ่งให้สำเร็จ โดยมีการตระเตรียม และวางแผนงานไว้ล่วงหน้าเป็นการจัดการ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ในเรื่องหนึ่ง ในระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง เช่น งานด้านวิจัยเรื่องหนึ่ง, การก่อสร้างถนน, การก่อสร้างเขื่อน

๒. ความเป็นมา และความสำคัญของปัญหา
โครงการก่อสร้างทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็กในประเทศไทยต่างเกิดขึ้นโดยผลแห่งสัญญา และสัญญาที่เกิดคือ สัญญาก่อสร้างโครงการเกิดขึ้นโดยบุคคลสองฝ่ายกล่าวคือ ฝ่ายหนึ่งคือเจ้าของโครงการ(Owner) อีกฝ่ายหนึ่งคือฝ่ายผู้ดำเนินการก่อสร้าง หรือผู้รับเหมาหลัก (Main Contractor/Contractor) และที่จะขอนำมากล่าวถึงเป็นกรณีศึกษา คือโครงการก่อสร้างคลังเก็บสินค้าโรงงานแห่งหนึ่งในมาบตาพุด จังหวัดระยอง เพราะจากสาเหตุที่ว่าทางเจ้าของโครงการ(Owner) ได้บอกเลิกสัญญาก่อสร้างกับกับผู้รับเหมางานหลัก ถึง ๒ ครั้งซ้อนส่งผลให้โครงการงานที่ทำไม่สามารถสำเร็จได้ตามกำหนดเวลาที่โครงการกำหนดไว้ได้ ทุกคนภายในองค์กรทำงานกันเสมือนมิได้มีอะไรเกิดขึ้น หรืออาจมองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยสำหรับปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะเป็นองค์กรใหญ่แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นส่งผลทั้งงานทางด้านวิศวกรรม และค่าใช้จ่ายที่สูญเสียในการหาพื้นที่เก็บสินค้าสำรอง รวมถึงความเสียหายด้านชื่อเสียงทั้งส่วนของผู้รับเหมาหลัก และชื่อเสียงของผู้ควบคุมงาน หรืออีกนัยหนึ่งเรียกว่า “Project Team” แม้ว่าองค์กรซึ่งถือว่าเป็นองค์กรขนาดใหญ่ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นอาจเป็นเรื่องเล็กน้อยภายในองค์กร แต่สำหรับความเสียหายด้านชื่อเสียงนั้นไม่สามารถคำนวณเป็นเงินได้ และเป็นเรื่องยากที่จะเยียวยาให้กลับสู่สภาพเดิมได้ มุมมองที่หนึ่งอาจมองว่าความเสียหาย หรือความผิดที่เกิดขึ้นเป็นความรับผิดชอบของผู้รับเหมาหลัก และอีกมุมมองหนึ่งมองว่าเป็นการตัดสินใจของผู้บริหารโครงการเลือกผู้รับเหมาหลักผิดเข้ามาทำงาน หรือมีผู้คิดอีกแนวทางหนึ่งคือความเสียหาย หรือความผิดพลาดทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากทีมบริหารจัดการ และดำเนินโครงการ แต่อย่างไรก็ตามสิ่งที่เกิดขึ้นคงมิใช่เรื่องบังเอิญเพราะครั้งแรกอาจเป็นไปได้ที่ว่าผู้รับเหมาหลักที่ชนะการประมูลเสนอราคาเข้ามาตรงกับความต้องการของผู้บริหารโครงการ ในขณะที่ผลการทำงานไม่เป็นไปตามวัฒถุประสงค์ของโครงการ สำหรับครั้งที่ สองอาจเกิดจาความผิดพลาดของผู้รับเหมาหลักเองเนื่องจากปัญหาของสภาพคล่องทางการเงิน และสิ่งเหล่านี้คืออุปสรรคสำคัญในการที่จะทำให้โครงการแล้วเสร็จตามกำหนดระยะเวลา

๓. เนื้อเรื่อง
สัญญาฉบับนี้เป็นสัญญาก่อสร้างมีกำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จของสัญญาคือเริ่มต้น ๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๑ กำหนดสิ้นสุดของสัญญา ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๒ จากแนวทางการทำงานของผู้รับเหมาหลักโดยมีการเริ่มทำงานได้ประมาณ ๑๒๒ วัน และมีการควบคุมการทำงานตามแผ่นหลักของโครงการ(Project Schedule) มีการติดตามความก้าวหน้าของงานทุกๆสัปดาห์ ยังมีการทำแผนงานประจำสัปดาห์ และแจ้งแผนล่วงหน้าอีกสองสัปดาห์เรียกอีกอย่างว่า “Three Week Schedule” ซึ่งเป็นเหมือนเครื่องสะท้อนให้เห็นความก้าวหน้าของโครงการเป็นระยะ จากการบันทึกรายงานการประชุมโครงการที่ประชุมยอมรับในรายงานที่ผู้รับเหมาหลักแจ้งทุกครั้งมี่มีการประชุมซึ่งการประชุมแต่ละครั้งจะประกอบด้วยบุคคลสามฝ่าย คือ ฝ่ายโครงการ ฝ่ายทีปรึกษาโครงการ และฝ่ายของผู้รับเหมาหลัก เมื่อทุกคนยอมรับในหลักการแล้ว บันทึกรายงานการประชุมถือว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับโครงการรับรู้จากบันทึกรายงานการประชุมทุกสัปดาห์ทางผู้รับเหมาหลักแจ้งว่าทำงานช้ากว่าแผนงาน และทางสมาชิกในที่ประชุมต่างยอมรับ นี่ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่มีการยกเป็นข้อต่อสู้อ้างกันในชั้นศาลหลังจากมีการบอกเลิกสัญญา(Terminate Contract) เพราะผู้รับเหมาหลักรายแรกได้มีการแจ้งและมีการบันทึกในที่ประชุมตลอดมาโดยทุกฝ่ายในที่ประชุมต่างยอมรับ การที่บอกเลิกสัญญาครั้งนี้ของทางเจ้าของโครงการต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมด เนื่องจากการบอกเลิกสัญญามิได้เป็นการบอกกล่าวล่วงหน้าไปยังผู้รับเหมาหลัก โดยในทางกฎหมายมีการชดค่าสินไหมทดแทนกันแล้ว แต่ในทางวิศวกรรมนั้นหมายถึงการบริหารโครงการที่ผิดพลาด ส่งผลให้เจ้าของโครงการไม่สามารถเข้าใช้พื้นที่โครงการได้ตามวัฒถุประสงค์ของโครงการ และยังส่งผลในด้านชื่อเสียงของโครงการ และชื่อเสียงของผู้รับหลักก่อสร้างรายนี้ ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ไม่สามารถตีราคาประมาณเป็นเงินได้ หรืออีกกรณีหนึ่งในทางบริหารโครงการ ผู้บริหารโครงการอาจมองแล้วว่าหากยังฝืนให้ดำเนินการก่อสร้างต่อไปงานจะเสียหายมากกว่าที่เป็นอยู่เดิมยอมที่จะรับภาระแห่งความเสียหายที่เกิดขึ้น
กรณีสัญญาก่อสร้างฉบับที่สองซึ่งได้มีการกำหนดระยะเวลาเริ่มต้นคือวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๕๑ สิ้นสุดสัญญาวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๕๒ ได้มีการทำงานมาในระยะเวลาหนึ่งมีการเบิกจ่ายเงินตามงวดงานที่กำหนดในแผน โดยเจ้าของโครงการจ่ายเงินไปถึงงวดที่ ห้า แต่ผลของการทำงานก่อสร้างยังไม่ได้ตามจำนวนเงินที่เบิกจ่ายไป และยังส่งผลให้งานไม่แล้วเสร็จตามแผน และวัฒถุประสงค์ของโครงการ และเมื่อวันที่
๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๒ ได้มีการยกเลิกสัญญา (Terminate Contract) เป็นสัญญาเป็นครั้งที่ ๒ โดยครั้งนี้คดีมิได้ขึ้นสู่ศาล แต่เป็นลักษณะประนีประนอมกัน โดยทางเจ้าของโครงการยอมที่จะจ่ายเงินเพิ่มเพื่อซื้อของบางส่วนจากผู้รับเหมาหลัก โดยจำนวนเงินหักกลบลบหนี้กับค่าปรับที่งานไม่แล้วเสร็จตามสัญญาก่อสร้าง เป็นไปได้อย่างยิ่งที่ทีมผู้บริหารโครงการเล็งเห็นผล และประสิทธิภาพของการทำงานก่อสร้างของผู้รับเหมาหลักแล้วว่าไม่มีความสามารถที่จะทำให้โครงการลุล่วงแล้วเสร็จได้ตามความต้องการของเจ้าของโครงการทำให้ต้องใช้เวลาในการทำโครงการเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวในการที่จะต้องทำให้โครงการแล้วเสร็จ ความเสียหาย หรือความสูญเสียในครั้งนี้ส่งผลให้เจ้าของโครงการต้องจ่าย ค่าเช่าสำนักงาน ,ค่าเช่าพื้นที่เก็บวัสดุต่างๆ อีกเป็นระเวลา ร่วมปี กว่าที่จะต้องมีการประมูลงานก่อสร้างใหม่ ท้ายที่สุดภาระค่าใช่จ่ายที่ต้องสูญเสียไปอย่างมากในครั้งนี้ส่งผลให้เจ้าของโครงการต้องหันมาประมวลวิเคราะห์ความผิดพลาด และสาเหตุต่างๆที่เกิดขึ้นอันทำให้โครงการไม่อาจสำเร็จได้เพื่อทำการศึกษาและทำความเข้าใจกับปัญหาที่เกิดขึ้น และหาแนวทางแก้ไขปัญหาเหล่านั้นที่เกิดขึ้น

๔. สรุป
ในฐานะของนักศึกษาสาขาการตรวจสอบและกฎหมายวิศวกรรมมหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้ทำการศึกษาจากปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นบอกเลิกสัญญา(Terminate Contract) โดยเจ้าของโครงการทั้ง ๒ ครั้งส่งผลทั้งทางกฎหมาย และทางวิศวกรรมแตกต่างกันตามสภาพของปัญหาขอแยกเป็นรายละเอียดไดดังนี้
๔.๑ พิจารณาจากหลักของกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์(มาตรา ๕๘๗) ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการบอกเลิกสัญญาไว้
1. เมื่อผู้รับจ้างทำงานเสร็จ แล้วส่งมอบ และได้รับค่าจ้างครบถ้วน
2. เมื่อคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งใช้สิทธิเลิกสัญญา
3.โดยผลของกฎหมาย กล่าวคือผู้ว่าจ้างบอกเลิกสัญญาเสียเมื่อใด
ก็ได้ ถ้าการที่จ้างยังไม่เสร็จ แต่ต้องชดเชยค่าเสียหายที่จะพึงมีให้แก่ผู้รับจ้าง
ดังนั้นจากการศึกษาเฉพาะกรณี คลังเก็บวัสดุสินค้ามีการบอกเลิกสัญญา(Terminate Contract) ฉบับแรกนั้นเมื่อคดีขึ้นสู่ศาลและศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาให้ทางเจ้าของโครงการจ่ายค่าชดเชยในการที่โครงการได้บอกเลิกสัญญา ซึ่งถือว่าเป็นไปตามข้อบังคับของกฎหมาย ส่วนสัญญา (Terminate Contract) ฉับที่ ๒ เมื่อมีการบอกเลิกสัญญาแล้วให้มีการตกลงประนีประนอมในส่วนของค่าเสียหายที่เกิดขึ้น โดยครั้งนี้จบกันก่อนดำเนินคดีทางศาล
๔.๒ พิจารณาหลักทางวิศวกรรม กล่าวถึงเรื่องของการบริหารองค์การทาง
วิศวกรรมซึ่งเป็นการศึกษาเฉพาะกรณีสัญญาฉบับแรก การบอกเลิกสัญญา(Terminate Contract) เพราะผู้บริหารโครงการวิเคราะห์แล้วเห็นว่าหากให้ผู้รับเหมาหลักรายนี้ดำเนินการต่อไปอาจเสี่ยงที่งานก่อสร้างจะไม่แล้วเสร็จตามเวลาที่กำหนด โดยใช้หลักการบริหารจัดการความเสี่ยงเรื่องของการวิเคราะห์ความเสี่ยงทางด้านเทคนิค และเรื่องของระยะเวลาโครงการ (Planning Schedule) ศึกษาถึงระยะเวลาของโครงการต้องไม่ยาวนานเกินควร สำหรับสัญญาฉบับที่ ๒ ผู้บริหารโครงการมองว่า มีความเสี่ยงสูงที่จะทำให้โครงการไม่แล้วเสร็จ เพราะความเสี่ยงที่เกิดจากบริษัทผู้รับเหมาหลักด้านการเงินและการบริหาร เนื่องจากปัญหาด้านการเงินและทุนในการบริหารโครงการ ของผู้รับเหมาหลักขาดสภาพคล่อง
ดังนั้นโดยหลักทางวิศวกรรม เรื่องของการบริหารองค์กรทางวิศวกรรม เห็นได้ว่าประเด็นของระยะเวลาดำเนินโครงการ และประเด็นของการเงินและทุนเป็นปัญหาทำให้โครงการไม่แล้วเสร็จได้